Home / Youinspire / ดูยุ่งตลอดเวลา ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จมากกว่าคนที่ใช้เวลาพักคิด

ดูยุ่งตลอดเวลา ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จมากกว่าคนที่ใช้เวลาพักคิด
3 months ago
เรามักชอบที่จะถูกคนอื่นมองว่ายุ่ง มากกว่าเห็นว่าเราไม่ทำอะไรเลย แต่อคติเกี่ยวกับความยุ่งนี้ อาจกันเราออกจากการเรียนรู้บางสิ่งเพิ่มเติม
เราอยากที่จะให้คนเห็นว่ากำลังทำบางอย่าง มากกว่าถูกมองว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แนวคิดฝังหัวนี้ทำให้เรากลัวที่จะมีภาพลักษณ์เป็นคนไม่ทำอะไรเลย แม้มันจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็ตาม แย่ไปกว่านั้น ความต้องการที่จะดูแอ็กทีฟตลอดเวลานั้นยังขัดขวางสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ “การเรียนรู้”
ในความเป็นจริงคือทุกวันนี้พวกเรามีชีวิตและทำงานอยู่ในเศรษฐกิจแบบเรียนรู้ เราไม่สามารถเป็นพนักงานที่แค่มีความรู้ได้ แต่ยังต้องเป็นพนักงานที่เรียนรู้อยู่เสมอด้วย และการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่ต้องชาร์จพลังและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่การทำแบบเดิมซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่
ต้นแบบของแนวคิดนี้ก็คือ Thomas J. Watson Sr ผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ IBM อย่างยาวนาน และสร้างบริษัทให้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของโลก เรื่องเริ่มเมื่อปี 1911 ครั้งที่ Watson ประชุมร่วมกับเหล่าผู้จัดการฝ่ายขายที่ National Cash Register* (บริษัทอเมริกันผู้ผลิตเทคโนโลยีเครื่องจักรสำหรับการค้าขาย)
เขาหงุดหงิดกับการที่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่มีไอเดียดี ๆ เลย “ปัญหาของพวกเราทุกคนคือพวกเราคิดไม่มากพอ” เขาประกาศ
“ความรู้คือผลจากความคิด และความคิดคือกุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจนี้ หรือแม้แต่ธุรกิจใดๆ ก็ตาม”
การทำสมาธิเป็นสิ่งที่ทรงพลัง แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ได้บรรจุการฝึกคิดทบทวนและหยุดผ่อนคลายเข้าไปในคู่มือของการเป็นมืออาชีพ ทำไมน่ะหรือ? เหตุผลสำคัญที่สุดก็เพราะเรามักจะได้รับความชื่นชมได้ง่ายจากการกระทำที่คนเห็นด้วยตานั่นเอง
การศึกษาในปี 2010 โดย Daniel Cable และ Kimberly Elsbach เผยแพร่ในวารสารความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Human Relations) จากการสัมภาษณ์และทดลองชุดหนึ่งทำให้พบว่า พนักงานที่มาถึงที่ทำงานเช้ากว่าหรือกลับบ้านช้ากว่ามักถูกมองว่าเป็นผู้ที่ “มุ่งมั่น” และ “อุทิศตน”
แต่แนวคิดเกี่ยวกับความยุ่งแบบเดิมๆ นี้เป็นวิธีคิดที่ผิด ในงานวิจัยเมื่อปี 2015 Erin Reid แห่ง McMaster University ศึกษาว่า “การทำงานเกินเวลาส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างไรสำหรับงานที่ปรึกษา” เธอพบว่าแม้ผู้จัดการจะลงโทษลูกจ้างที่ยอมรับว่าให้เวลากับงานน้อยกว่าคนอื่น ผู้จัดการเองก็ไม่สามารถบอกความแตกต่างได้อยู่ดี ระหว่างคนที่ให้เวลากับงานนานกว่าจริง ๆ กับคนที่แค่พูดว่า “เขาทำ”
เธอยังพบอีกว่ามีความแตกต่างของประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างคนที่ให้เวลากับงานมากกว่ากับคนที่ให้เวลาน้อยกว่าด้วย
ดังนั้น หากการทำงานเกินเวลาไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ที่แท้จริงแล้ว ทำไมพวกเราถึงยังไม่เต็มใจที่จะหยุดพักชั่วคราว เพื่อคิดและเรียนรู้กันล่ะ?
เหตุผลหนึ่งคือความกลัวที่จะต้องรู้สึกผิด การศึกษาในฟุตบอล ผู้วิจัยได้ถามกลุ่มตัวอย่างของผู้รักษาประตูเกี่ยวกับกลยุทธ์ของเขาสำหรับการป้องกันจุดโทษ ส่วนใหญ่ตอบว่าพวกเขาเลือกที่จะพุ่งไปทางซ้ายหรือขวามากกว่าที่จะยืนอยู่ตรงกลาง เมื่อถามถึงเหตุผล พวกเขามักตอบว่า “ไม่อยากรู้สึกผิดจากการปล่อยให้เสียประตูโดยที่ยืนอยู่เฉยๆ” หรือพูดอีกอย่างก็คือ พวกเขาอยากถูกเห็นว่าได้พยายามทำอะไรบางอย่าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พลาดก็ตาม
บทเรียนเหล่านี้ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน ระหว่างการประชุมร่วมกับที่ปรึกษา David Upton ศาสตราจารย์ประจำ Harvard Business School ในขณะรีบเร่งอยู่กับรายการสิ่งที่ต้องทำ พยายามที่จะแชร์ทุกสิ่งที่กำลังทำอยู่ และด้วยนิสัยติดพูดเร็วเวลารู้สึกกังวล หลังจากใจลอยไปเป็นนาที และดูจะหายใจไม่เป็นปกติ David จับมือของผมเพื่อให้ผมหยุดชั่วครู่ เขารออยู่ประมาณสองวินาที มองตาผม แล้วมอบหนึ่งในคำแนะนำที่ดีที่สุดให้ นั่นคือ
“Brad อย่าให้ความยุ่งทำให้คุณหยุดความคิดนะ”
ดังนั้น จงต่อสู้กับความต้องการจะแสดงออกถึงความรีบเร่ง และจำไว้ว่าเมื่อเจอกับสิ่งที่ยาก มันจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาเพื่อหยุดแล้วคิด
ที่มา : www.scribd.com